วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

หนองคาย - องคมนตรี ลงพื้นติดตามการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ


นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย เพื่อติดตามการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริห้วยน้ำทอน ต.ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย
     วันนี้(25 มี.ค. 58) ที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน ต.ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ ลงพื้นที่เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ติดตามความคืบหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีนายอโณทัย ธรรมกุล รอง ผวจ.พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและบรรยายสรุปเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการฯ ณ ห้องประชุมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน บ้านบางกอกน้อย ต.ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย
     สำหรับความเป็นมาของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยทอนฯ นี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเสด็จเยี่ยมวัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย กำนันตำบลพระพุทธบาท ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพิจารณาแผนที่ และทรงมีพระราชดำริแก่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานที่เฝ้ารับเสด็จว่า เห็นสมควรพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามคำขอของราษฎร กรมชลประทานจึงได้ทำการศึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน ในปี 2526
     ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เจ้าอาวาสวัดหินหมากเป้ง และได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพพื้นที่บริเวณลำห้วยทอน และพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำท้วยทอน จากการพิจารณาสภาพภูมิประเทศแล้ว กรมชลประทานได้วางแผนงานไว้ทั้งหมด 6 โครงการ ในเขตจังหวัดหนองคาย 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการและระบบส่งน้ำห้วยทอนตอนบน, โครงการและระบบส่งน้ำห้วยทอนตอนล่าง, โครงการห้วยหินแก้ว และโครงการห้วยไฮ
     นายวิชัย จาตุรงค์กร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานหนองคาย กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำห้วยทอน เป็นอ่างเก็บน้ำแบบทำนบดินมีความจุของอ่างอยู่ที่ 7,800,000 ลบ.ม. มีระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่โดยรอบให้ประชาชนใช้ในด้านการเกษตรในพื้นที่ ตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก กว่า2,800 ไร่ ประชาชนได้ใช้น้ำเพื่อการเกษตร รวมทั้งอุปโภค บริโภค ซึ่งเมื่อเข้าหน้าแล้งอ่างเก็บน้ำห้วยทอนไม่เคยประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ยังคงมีน้ำเพียงพอในการนำไปใช้ของประชาชนทั้งด้านการเกษตรและอุปโภค บริโภค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น