วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หนองคาย - เทศบาลเมืองท่าบ่อ สืบสานประเพณีถวายเทียนพรรษา ประจำปี 2558

       วันนี้ (31 ก.ค. 58) ที่วัดท่าบ่อ ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย นายประพาส นครภักดี นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองท่าบ่อ พร้อมด้วย ปลัดเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล ข้าราชการประจำเทศบาล พนักงาน ลูกจ้าง ร่วมกันส่งเสริมประเพณีถวายเทียนจำนำพรรษา ประจำปี 2558 เพื่อประชาชนและพุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ประเพณีที่ดีงาม โดยมี พระอาจารย์มุน รัตนญาโณ เจ้าอาวาสวัดท่าบ่อ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
       ทั้งนี้ เทศบาลเมืองท่าบ่อ เป็นหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความใกล้ชิดประชาชน มีหน้าที่พัฒนาพื้นที่ที่รับผิดชอบ และมีหน้าที่บำรุงศิลปะจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และในช่วงเข้าพรรษา 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี จะมีการจัดประเพณีการแห่เทียนและถวายเทียนพรรษา เป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้ถือปฏิบัติกันโดยเสมอมาและถือเป็นประเพณีที่สำคัญในพุทธศาสนา ที่พระสงฆ์จะต้องจำพรรษาที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนทำบุญรักษาศีลประพฤติตามหลักธรรมของพุทธศาสนาอย่างจริงจังอีกด้วย.

หนองคาย - ชาวหนองคายและพื้นที่ใกล้เคียง แห่เข้ากราบนมัสการหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ ในวันเข้าพรรษาเนืองแน่น

       วันนี้ (31 ก.ค. 58) ที่วิหารหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ วัดศรีชมภูองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย มีพุทธศาสนิกชน ประชาชนทั้งในจังหวัดหนองคายและพื้นที่ใกล้เคียงจำนวนมาก เข้ากราบนมัสการหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ เพื่อความเป็นสิริมลคลเนื่องในวันเข้าพรรษา

        โดยยังพบว่าปีนี้ส่วนใหญ่จะเดินทางมาทำบุญกันเป็นครอบครัว เนื่องจากเป็นวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ลูกหลานที่เดินทางไปทำงานต่างจังหวัด ก็ได้เดินทางกลับมาบ้านเกิดและถือโอกาสช่วงนี้ไปทำบุญร่วมกัน ทั้งนี้ ผู้ที่มากราบนมัสการหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ ยังได้ร่วมบริจาคปัจจัย ถวายสังฆทาน ปล่อยนก ปล่อยสัตว์น้ำจืดแล้ว ยังได้เดินทางไปแสวงบุญต่อที่วัดอรัญบรรพต วันหินหมากเป้ง วัดผาตากเสื้อ วัดถ้ำเพียงดิน ก่อนจะพาครอบครัวพักผ่อนที่น้ำตกธารทอง ซึ่งเป็นน้ำตกที่ขึ้นชื่อของจังหวัดหนองคาย

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หนองคาย - อาจารย์หนุ่มเทคนิค ไถสวนยางที่ปลูกกว่า 3 ปี ทิ้ง พลิกฟื้นผืนดินปลูกฟักข้าว ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ต้นทุนน้อยเห็นผลเร็ว จำหน่ายสร้างรายได้เสริมเดือนละกว่า 25,000 บาท เพราะรับต้นทุนการรักษาต้นยางสูง สู้ค่าจ้างแรงงานไม่ไหว ทั้งราคาตก จึงตัดสินใจไถสวนยางทิ้ง หันมาปลูกฟักข้าว

       นายสิทธิชัย สิงห์มหาชัย กล่าวว่า ตนรับราชการสอนวิชาอิเล็คทรอนิค ที่วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย แต่ใช้เวลาว่างหลังจากการสอนนักศึกษาและวันหยุด ปลูกสวนยางพาราที่ตำบลวัดหลวง อำเภอโพนพิสัย บนเนื้อที่กว่า 6  ไร่ ได้ประมาณ 3 ปีกว่า ต้องลงทุนซื้อปุ๋ยและจ้างแรงงานในการทำสวนยาง ราคายางก็ตก มีต้นทุนสูงมากแบกรับภาระไม่ไหว จึงตัดสินใจไถสวนยางทิ้งทั้งหมด หันมาปลูกพืชที่ได้ผลผลิตเร็วและสามารถสร้างรายได้มาทดแทน โดยนำฟักข้าวซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับแตงกวามาปลูกทดแทน โดยทดลองปลูกในพื้นที่ 1ไร่ก่อน
       โดยลงทุนทำร้านสำหรับไว้ให้ต้นฟักข้าวเกาะ หลังจากปลูกฟักข้าวได้ เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ สัปดาห์ละประมาณ 50-60 กิโลกรัม นำไปจำหน่ายกิโลกรัมละ 40-60 บาท ซึ่งผลฟักข้าวที่ปลูกไว้ก็จะสามารถเก็บได้ตลอด  ยิ่งปลูกนานหลายปีผลผลิตก็จะเพิ่มมากขึ้น ต้นฟักข้าวจะมีอายุอยู่ได้ 20-30 ปี การลงทุนปลูกฟักข้าวก็ต้นทุนก็น้อย ส่วนที่ใช้ประโยชน์คือ ยอด ใบ และผลอ่อนของฟักข้าว ก็สามารถนำไปจำหน่าย หรือนำไปประกอบอาหารรับประทานได้
       ส่วนเมล็ดก็สามารถนำไปเพาะพันธุ์ จำหน่ายได้ต้นกล้าละ 30 บาท การดูแลรักษาก็จะรดน้ำวันเว้นวัน ส่วนศัตรูฟักข้าวคือ แมลงวันทอง ก็จะใช้วิธีกำจัดด้วยการใช้ขวดน้ำเปล่าใส่ใบกะเพราขาวล่อแมลงวันเข้าไป ส่วนการใช้ปุ๋ยก็จะเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำขึ้นเองจะไม่ใช้สารเคมี จึงมั่นใจในการปลอดสารปนเปื้อนเมื่อนำไปบริโภค
       นายสิทธิชัย ฯ  กล่าวต่อว่า นอกจากจะจำหน่ายลูกฟักข้าวแล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากฟักข้าว เช่น นำฟักข้าว สบู่ฟักข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่า ทำให้มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น ช่วงนี้ก็มีรายได้เสริมเดือนละประมาณ 20,000-25,000 บาท ปัจจุบันได้ปลูกต้นฟักข้าวในพื้นที่อีก 5 ไร่ จึงอยากให้เป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรที่ปลูกยางพารา หรือคิดจะปลูกใหม่ ควรหาพืชปลูกทดแทน พืชที่ลงทุนน้อย ได้ผลผลิตเร็ว ที่สามารถสร้างรายได้ตามสภาพพื้นที่ ส่วนปุ๋ยที่ใช้ก็ควรเน้นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ที่ราคาไม่แพง ไม่จำเป็นต้องเป็นปลูกฟักข้าวก็ได้ พืชสวนทุกชนิดสามารถสร้างรายได้ หากมีความมุ่งมั่น และยึดหลักตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ก็จะสามารถดำรงชีพได้อย่างมีความสุข.

หนองคาย - ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดหนองคาย นำร่ององค์กรต้นแบบความปลอดภัยทางถนน จังหวัดแรกของประเทศ เน้น จับ ปรับ จริง ให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างมาตรการด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุร่วมกันอย่างจริงจัง และเพื่อนำชีวิตที่ปลอดภัยคืนสู่ถนน

       วันที่ 30 มิ.ย. 58 ที่โรงแรมบุศยรินทร์ อำเภอเมืองหนองคาย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยจังหวัดหนองคาย โดยนายสมหวัง ทองขาว ขนส่งจังหวัดหนองคาย ได้จัดแถลงข่าวและประชุมซักซ้อมแนวทางการดำเนินโครงการบูรณาการสร้างองค์กรต้นแบบความปลอดภัยทางถนนจังหวัดหนองคาย โดยมีนายอโณทัย ธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งการดำเนินการโครงการครั้งนี้ นายสมหวัง ทองขาว ขนส่งจังหวัดหนองคาย ได้ซักซ้อมแนวทางการดำเนินโครงการเรื่อง มาตรการองค์กรต้นแบบสำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ, พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ จำรัสประเสริฐ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย ชี้แจงเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย และการประเมินผลและตัวอย่างการดำเนินโครงการ โดยนางสาวนงลักษณ์  พิทักษ์กุล ผจก.บ.กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สาขาหนองคาย
        ทั้งนี้เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ทุกพื้นที่ของจังหวัดหนองคาย ได้ช่วยกันต่อต้านการใช้รถใช้ถนนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เคารพกฎจราจร และให้ร่วมกันปฏิบัติตามกฎจราจรกันอย่างเคร่งครัด และเข้าร่วมโครงการองค์กรต้นแบบความปลอดภัยทางถนน โดยจะเริ่มดำเนินการสร้างมาตรการองค์กรต้นแบบความปลอดภัยทางถนนพร้อมกันในทุกพื้นที่ของจังหวัดหนองคาย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2558  และได้กำหนดถนนต้นแบบความปลอดภัย ทั้ง 9  อำเภอของจังหวัดหนองคาย จำนวน 14  สาย เป็นถนนปลอดภัย สร้างวินัยจราจร
       ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเข้มงวดกวดขันวินัยจราจร หากฝ่าฝืนกฎจราจร จะดำเนินการ จับ ปรับ จริง หากพบผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่ทำดีปฏิบัติตามกฎจราจร จะได้รับสติกเกอร์สัญลักษณ์ต้นแบบความปลอดภัย กปถ. สะสมไว้รับรางวัลเมื่อสิ้นสุดโครงการ  ส่วนบุคลากรของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องควบคุมบุคลากรที่ขับขี่รถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย 100% และขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัย100% และต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ลดลงได้อย่างยั่งยืน
       สำหรับโครงการฯ ดังกล่าวมีหน่วยงานหลักที่ร่วมดำเนินการโครงการฯ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กองบังคับการตำรวจภูธร  สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สาขาหนองคาย และสำนักงานขนส่งจังหวัดหนองคาย โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการฯ  113 แห่ง.

หนองคาย - ขนส่งหนองคาย กำหนดถนน 14 สาย เป็นถนนปลอดภัย สร้างวินัยจราจร เน้น จับ ปรับ จริง เริ่ม 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 58

       นายสมหวัง ทองขาว ขนส่งจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า วันที่ กรกฎาคม 2558 – 30 กันยายน 2558 เริ่มถนนปลอดภัย สร้างวินัยจราจร ที่เน้น จับ ปรับ จริง และต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดในถนน 14  สาย หากผู้ขับขี่ยานพาหนะในเส้นทางนี้ ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ซึ่งมีหน่วยงานเข้าร่วมโครงการ 113 แห่ง เป็นหน่วยงานภาครัฐ 78 แห่ง ภาคเอกชน 14 แห่ง สถาบันการศึกษา 12 แห่ง และชุมชน 9 แห่ง
สำหรับถนนปลอดภัย สร้างวินัยจราจร  ได้แก่
       -ถนนสายประจักษ์ศิลปาคม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จากลานน้ำพุเฉลิมพระเกียรติ ถึงสี่แยกเทพบันเทิง ซอยนิตะพัฒน์ ระยะทางประมาณ 700 เมตร (สภ.เมืองหนองคาย)
       -ถนนสันติสุข ตั้งแต่สี่แยกไฟแดงหน้าประตูเมือง ถึงสี่แยกปิ่งทอง (สภ.ท่าบ่อ)
       -ถนนสายหนองคาย-บึงกาฬ ทางหลวงหมายเลข 212 ช่วงจุดตรวจวัดหลวง ประมาณ 3 กม. (สภ.โพนพิสัย)
       -ทางหลวงสาย 211 เริ่มตั้งแต่สี่แยกทางเข้าวัดศรีเชียงใหม่ (วัดทุ่ง) ซอยเทศบาล 17 ถึงหน้าเทศบาลศรีเชียงใหม่ ซอยเทศบาล 10 ระยะทางประมาณ 800 เมตร (สภ.ศรีเชียงใหม่)
       -ถนนหมายเลข 212  ถนนหนองคาย-บึงกาฬ เริ่มจากหน้า รพ.รัตนวาปีถึงหน้าสหกรณ์การเกษตรรัตนวาปี ระยะทาง 3.2 กม. (สภ.รัตนวาปี)
       -ถนนมิตรภาพ (A2) สายอุดรธานี-หนองคาย (สภ.สระใคร)
       -ถนนโพนพิสัย-โซ่พิสัย หลัก กม.ที่ 23-31 (สภ.เฝ้าไร่)
       -ถนนสายหนองคาย-เมืองเลย เส้น 211 ระหว่างสะพานห้วยน้ำโสม ถึงสะพานห้วยค้อ ระยะทางกม.(สภ.สังคม)
       -ถนนสาย 2266 เริ่มหน้าโรงเรียนโพธิ์ตากพิทยาคม ถึงสะพานบ้านโพธิ์ตาก (เขตติดต่อบ้านผือ จ.อุดรธานี ระยะทางประมาณ 1,500 เมตร (สภ.โพธิ์ตาก)
       -ถนนหนองคาย-โพนพิสัย กม.ที่ 22-32 (สะพานปากสวย)ระยะทางประมาณ 20 กม.(สภ.บ้านเดื่อ)
       -ถนนสายบ้านเซิม-เฝ้าไร่ กม.10-12 ระยะทาง 2 กม. (สภ.เซิม)
       -ถนนพนังกั้นน้ำโขง เส้นทางหนองคายท่าบ่อช่วง กม.ที่ 6-7 บ้านท่าดอกคำ ต.เมืองหมี อ.เมืองหนองคาย (สภ.เวียงคุก)
       -ถนน รพช.สาย 3026 (บ้านม่วง-บ้านเทพประทับ) (สภ.นางิ้ว)
        -ถนนทางหลวงชนบทเส้นภูเสด็จ-อ.สร้างคอม (ถนนทางหลวงชนบทระหว่างหมู่บ้านเหล่าโพธิ์ศรี-บ้านสร้างนางชาว อ.โพนพิสัย) (สภ.เหล่าต่างคำ)
       สำหรับผู้ร่วมโครงการฯทำดีปฏิบัติตามกฎจราจร จะได้รับสติกเกอร์สัญลักษณ์ต้นแบบความปลอดภัย กปถ.สะสมไว้รับรางวัลเมื่อสิ้นสุดโครงการฯ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งจังหวัดหนองคาย โทร 042-421473  หรือ โทร 1584  "อย่าลืม ...ทำดีมีวินัยจราจร "