วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สาธารณสุขจังหวัดหนองคาย แถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์การควบคุมป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง “สังคมรักษ์หัว...ใจ” สร้างแคมเปญในการรณรงค์ตลอดทั้งปี เพื่อจะเพิ่มการรับรู้ไปยังประชาชนในจังหวัดได้ทั่วถึง

     วันนี้ (23 ธ.ค. 57) ที่ หอประชุมอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย นายอโณทัย ธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยนายแพทย์วิวรรธน์ ก่อวิริยกมล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองคาย นายสำเริง สำราญรมณ์ ปลัดอาวุโส (รักษาราชการแทนนายอำเภอสังคม) นายสมชาย หนุ่มขุนทด สาธารณะสุขอำเภอสังคม นายแพทย์บรรจบ อุบลแสน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสังคม ร่วมกันแถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์การควบคุมป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองสังคมรักษ์หัว...ใจ
     นายอโณทัย ธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า จังหวัดหนองคาย พยายามที่จะสร้างแคมเปญในการรณรงค์เรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตลอดทั้งปี เพื่อจะเพิ่มการรับรู้ไปยังประชาชนในจังหวัดได้ทั่วถึง ดังนี้ โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองมีผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน  โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันรักษาและฟื้นฟูผู้ที่ป่วยเป็นโรคแล้วได้  ให้บุคลากรสาธารณสุขและสาธารณชนตระหนักรู้และใส่ใจเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง  โดยมีมาตรการ/แนวทางการรณรงค์ การสร้างการขับเคลื่อนและถ่ายทอดความรู้ไปสู่การปฏิบัติในระบบบริการ โดยการสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากทุกภาคส่วนและจากทุกองค์กร ให้มุ่งเน้นการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ภายใต้สโลแกน สุขภาพที่ดี เริ่มต้นที่บ้าน สุขภาพที่ดี เริ่มต้นที่ชุมชนน่าอยู่และสถานบริการสาธารณสุขต้องจัดให้มีหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพอย่างเป็นระบบและครอบคลุมในทุกระดับ ทั้งในบุคคล ครอบครัว รวมถึงผู้ดูแลผู้ป่วย ในส่วนโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนต้องมีความพร้อมรับ ดูแล รักษาอย่างเป็นระบบ มีคุณภาพมาตรฐาน มีมุมดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะ
     ด้านนายแพทย์วิวรรธน์ ก่อวิริยกมล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในช่วง พ.ศ.2556-2557 ประเทศไทยพบอัตราตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดต่อประชาชนแสนคนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย  ในปี พ.ศ.2556 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 54,530 คน เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 150 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน และยังพบผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน 33,307 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแบบรุนแรงถึง 11,024 ราย มีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 17 สูงกว่าต่างประเทศซึ่งมีอัตราตายร้อยละ 7 หรือกว่า 2 เท่าตัว

     นายแพทย์วิวรรธน์  กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของโรคกลุ่มนี้เกิดจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ได้แก่ การรับประทานที่มากเกินพอดี ไม่สมดุล รับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม รับประทานผักผลไม้น้อย ใช้เครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น มีกิจกรรมทางกายน้อยลง ไม่ออกกำลังกาย เครียด และพักผ่อนไม่เพียงพอ ประกอบกับการสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพดังกล่าว ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน อ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด.   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น