สัญญาณ "ไฟอำนาจ" ที่แยกถนนเจ้าอนุ เลียบฝั่งแม่น้ำโขงในภาพวันที่ 4 พ.ค.2555 หรือเมื่อ 1 ปีก่อน เศรษฐกิจโดยรวมของลาวขยายตัวเฉลี่ย 8% ต่อปีตลอดหลายปีมานี้ และ 12% สำหรับเมืองหลวงซึ่งรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรต่อปี 1,700 ดอลลาร์ สูงกว่าประชากรทุกแขวง ทางการประกาศอย่างผ่าเผยเมื่อต้นเดือนนี้ ในปัจจุบันประชากรยากจนในนครเวียงจันทน์เหลืออยู่เพียง 86 ครอบครัวเท่านั้น อันเป็นผลงานในความพยายามกำจัดความทุกข์ยาก กับการลงทุนพัฒนาเขตชนบทของรัฐ มีการเปิดเผยตัวเลขสถิติต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ระหว่างการประชุมสภาแห่งชาติวันที่ 2-3 พ.ค.ที่ผ่านมา
นายวิไซ ซาวันนา
หัวหน้าแผนกแผนการและการลงทุนของเมืองหลวง เป็นผู้รายงานเรื่องนี้ โดยระบุว่า
คนยากจนที่เหลืออยู่คิดเป็นเพียง 0.04% ของชาวเมืองหลวงทั้งหมดที่มีอยู่ทั้งหมด
201,209 ครัวเรือน ทางการได้แก้ไขปัญหาด้วยการจัดสรรที่ทำกินสำหรับราษฎรยากจน
ลงทุนเพื่อสร้างงาน และแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด จัดภูมิลำเนาให้มีที่อยู่อาศัย
และแก้ไขปัญหาไม่มีงานทำในเขตชนบท "สำนักข่าวสารปะเทศลาวรายงาน"
ในย่านใจกลางเมืองหลวงมีครอบครัวยากจนเหลืออยู่น้อยที่สุดคือ เขตเมืองจันทะบูลี เหลืออยู่เพียง 6 ครอบครัว เมืองไซเสดถา 7 ครอบครัว และเมืองไซทานี ซึ่งครอบคลุมถึงย่านรอบนอกและชานเมืองเหลืออยู่ 37 ครอบครัว ไกลออกไปในเขตเมืองปากงึม มี 12 ครอบครัว กับเมืองสังทอง ซึ่งเป็นท้องถิ่นห่างไกลที่สุดจากใจกลางนครหลวงมีอยู่ 24 ครอบครัว "สำนักข่าวสารปะเทศลาวกล่าว"
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวของทางการ ไม่ได้กล่าวถึงเกณฑ์ที่ใช้ชี้วัดขีดความยากจนของลาว รวมทั้งไม่ได้กล่าวถึงตัวเลขรายได้ต่อหัวประชากรต่อปี ที่เป็นปัจจุบันของชาวเมืองหลวง ตามรายงานการปฏิบัติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประจำปี 2551 ที่เผยแพร่ในต้นปีถัดมา รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวนครเวียงจันทน์ราว 5 แสนคน เพิ่มขึ้นเป็น 1,613 ดอลลาร์ คิดเป็นอัตราเพิ่ม 24.13% เทียบกับ 1,300 ดอลลาร์เมื่อ 3 ปีก่อนหน้านั้น
มติของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ที่ออกระหว่างการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 9 เดือน มี.ค.2554 ได้ตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 8% ต่อปี ตลอดเวลา 5 ปีข้างหน้า และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวลาวทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1,700 ดอลลาร์ในปี 2558 และในปีเดียวกันนั้น ทั่วทั้งประเทศจะต้องมีครอบครัวยากจนเหลืออยู่ไม่เกิน 10% ของทั้งหมด.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น