นายผอง สองพงษ์ อายุ 71 ปี อยู่บ้านเลขที่
91 บ้านโพนธาตุ ต.บ้านว่าน อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวว่า
ในช่วงหน้าแล้งหญ้าคาจะเหี่ยวแห้ง ซึ่งถือเป็นวัชพืชที่เป็นศัตรูที่สำคัญของชาวนา
และต้นข้าว ชาวนาส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีเผาทำลาย และไม่นิยมไปแผ้วถางหญ้าคา
เพราะว่าใบหญ้าคาจะแหลมคม หน่อของหญ้าคาก็จะแหลมคม
มีส่วนไปทิ่มแทงบริเวณเท้าทำให้เจ็บปวด ชาวบ้านบางส่วนก็จะเก็บเกี่ยวนำมาเป็นไพรหญ้าคา
ไปทำหลังคากระท่อม ยุ้งข้าว หรือว่าคอกผัก
แต่สำหรับตนแล้ว
หญ้าคานั้นถือเป็นหญ้ามงคลที่เกี่ยวข้องกับทางพระพุทธศาสนา จึงใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการนำหญ้าคาที่เหี่ยวแห้งแล้วมาใช้เป็น
“กำคา” ไปถวายวัด เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ใช้ในการประพรมน้ำพระพุทธมนต์
และก็มีแนวคิดที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นคุณค่ามาปรับเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์และมีมูลค่าเพิ่ม
ด้วยการนำเอามาผลิตเป็นต้นเงินหญ้าคาพญานาค ให้พุทธศาสนิกชนได้นำเงินปัจจัยเสียบไว้และก็นำไปถวายวัดในเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา
สำหรับการทำต้นเงินหญ้าคาพญานาค ตนทำมานานกว่า
8 ปีแล้ว ได้รับความสนใจจากชาวบ้านและผู้พบเห็นมาสั่งทำ ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่
มีลักษณะเป็นพญานาค 1 เศียร ถึง 7 เศียร ราคาตั้งแต่ 500-10,000 บาท
ปัจจุบันนั้นผลิตไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้า
เพราะว่าต้นเงินพญานาคแต่ละต้นใช้เวลาทำนาน และหญ้าคาก็หายาก
อีกทั้งหญ้าคาที่มาทำนั้นต้องเลือกขนาดของใบให้เท่ากันด้วย
จึงอยากฝากไปถึงคนรุ่นหลังให้ช่วยกันนำของที่ไม่เป็นประโยชน์ มาสร้างให้เกิดมูลค่า
เช่นเดียวกับหญ้าคาที่สามารถสร้างมูลค่าและจำหน่ายมีรายได้เลี้ยงครอบครัว อีกด้วย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น