วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558

จังหวัดหนองคาย เปิดการแสดงแสงเสียงตำนานสงครามปราบฮ่อ เล่าขานตำนานความกล้าหาญทหารไทยทำศึกสงครามปราบกบฏฮ่อให้ชมฟรี ในงานฉลองอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ และงานกาชาดจังหวัดหนองคาย ปี 2558

     เมื่อคืนวันที่ 5 มีนาคม 2558  ที่ลานหน้าอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ  อำเภอเมืองหนองคาย  นายสุชาติ นพวรรณ   ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายยุทธนา ศรีตะบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ร่วมเปิดการแสดงแสงเสียง ตำนานสงครามปราบฮ่อหนึ่งในกิจกรรมภายในงานฉลองอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ และงานกาชาดจังหวัดหนองคาย ประจำปี 2558
     การแสดงแสงเสียงตำนานสงครามปราบฮ่อ เป็นการแสดงต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 6 ที่ชมรมนาฏศิลป์หนองคาย นำนักแสดงกว่า  250  คน ทั้งนักแสดงกิตติมศักดิ์ นักเรียน และนักศึกษา จากโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร โรงเรียนหนองคายวิทยาคาร โรงเรียนกีฬาจังหวัดหนองคาย วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย โรงเรียนเทศบาล 1 สว่างวิทยา โรงเรียนอนุบาลน้ำผึ้งและมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย  ,ม้าที่ใช้ในการแสดง ได้รับการสนับสนุนจากพันโทสงกรานต์ จันทะปัสสา หัวหน้าแผนกสัตวบาล กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 2 กรมการสัตว์ทหารบก   และที่สำคัญการแสดงแสงเสียง ตำนานสงครามปราบฮ่อ”  ปีนี้ มีนักแสดงกิตติมศักดิ์ ได้แก่ พันตำรวจเอกจักราวุธ จงศิริ ผกก.ฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองหนองคาย  ,นายวินัย ลิ้มบุพศิริพร รองผู้อำนวยการโรงเรียนหนองคายวิทยาคาร, นางจิราภรณ์ ชัยมณี นักวิชาการวัฒนธรรม สนง.วัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย และนางสาวิตรี คลีล้วน ผอ.กองการศึกษาเทศบาลตำบลหนองสองห้อง  สำหรับผู้ เขียนบท และกำกับการแสดงโดย นายยอดยิ่ง ราชตั้งใจ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย      โดยการแสดงจะมีขึ้นในวันที่ 5-13 มี.ค.2558  รวม 8 วัน  ระหว่างเวลา 19.00-20.00 น. เว้นวันที่ 9  มีนาคม 2558
     การแสดงแสงเสียง  “ตำนานสงครามปราบฮ่อ”  เป็น การเล่าถึงเรื่องราวตั้งแต่การเกิดกบฏชาวจีนฮ่อ  สมัยพระนางซูสีไทเฮา  กระจัดกระจายจากประเทศจีนไปตามหัวเมืองต่างๆ  ที่ประพฤติตัวเป็นกองโจร  มาตีเมืองเชียงขวาง และทุ่งเชียงคำ เมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ และเตรียมยกทัพมาตีเมืองหนองคาย ขณะนั้น เจ้าเมืองหนองคายไม่อยู่  ผู้ที่รักษาเมืองแทนหลบหนีเอาตัวรอด ปล่อยทิ้งไม่ดูแลราษฎร ทำให้พวกกบฏฮ่อยกกองทัพเข้าเมืองหนองคาย   เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบ  จึงมีพระบรมราชโองการให้พระยามหาอำมาตย์   ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปปราบฮ่อที่เมืองอุบลราชธานีอยู่แล้ว ยกกองทัพเข้าเมืองหนองคาย ปราบพวกฮ่อ จนพวกฮ่อสู้ไม่ได้จึงถอยหนีไป เพื่อให้การปราบฮ่อเป็นไปอย่างรวดเร็วเด็ดขาด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม” คุมกองทัพขึ้นไปสมทบกับอาสาสมัครจากเมืองหนองคาย กองทัพไทยได้เอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในค่ายของพวกฮ่อจนฮ่อแตกหนีไป   เมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อยแล้ว กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จึงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อขึ้นที่เมืองหนองคาย เพื่อบรรจุอัฐิทหารที่เสียสละชีพเพื่อชาติ. 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น