วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

หนองคาย - โรงเรียนในเครือข่ายมูลนิธิยุวทูตความดี จาก 2 จังหวัด 8 โรงเรียน ร่วมจัดโครงการเหย้า – เยือน เพื่อพลังแผ่นดิน “สานสัมพันธ์ น้ำแคว ลงน้ำโขง” มุ่งพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้มีคุณภาพ คุณธรรม จริยะธรรม ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

      วันนี้ (2 มี.ค. 58) ที่โรงเรียนโกมลวิทยาคาร อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย กลุ่มโรงเรียนในเครือข่ายมูลนิธิยุวทูตความดี ระหว่างเยาวชนจากโรงเรียนในจังหวัดหนองคาย และจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมจัดโครงการเหย้า – เยือน เพื่อพลังแผ่นดิน “สานสัมพันธ์ น้ำแคว ลงน้ำโขง” ประจำปี 2558 โดยมี นายประพาส นครภักดี นายกเทศมนตรีเมืองท่าบ่อ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ
     โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานไว้ในโอกาสต่างๆ เน้นถึงคุณธรรม รู้รักสามัคคีเพื่อให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่ายึดถือปฏิบัติ เพื่อความเป็นปึกแผ่นชองชาติและเพื่อให้ประเทศไทยมีความเจริญมั่นคงสืบไป
     กระทรวงการต่างประเทศ จึงริเริ่ม “โครงการยุวทูตความดี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เมื่อปี 2542 โดยมีโรงเรียนระดับประถมศึกษา นำร่อง 16 จังหวัด ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมเป็นเครือข่าย จำนวน 2,154 โรงเรียน เพื่อมุ่งพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้มีคุณภาพ คุณธรรม จริยะธรรม ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงการเสริมสร้างการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สานสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนต่างภูมิภาค ด้วยการใช้หลักรู้รักสามัคคี เพื่อให้นักเรียนได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดทักษะชีวิต มีทักษะในการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์ ความร่วมมือ การสื่อสาร การอาชีพ เกิดการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน รู้จักบำเพ็ญประโยชน์ ได้เรียนรู้สิ่งสำคัญในจังหวัดของคู่เหย้า – เยือน เรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างนักเรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณธรรม มีคุณภาพ
     สำหรับการจัดโครงการดังกล่าว มีเยาวชนจากจังหวัดกาญจนบุรี นำโดยโรงเรียนหลัก คือ โรงเรียนท่ามะกา พร้อมโรงเรียนภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย โรงเรียนวัดพระแท่นดงรัง, โรงเรียนวัดเขาสะพายแจ้ง และโรงเรียนวัดเขาใหญ่ เดินทางมาเยือนจังหวัดหนองคาย โดยมีโรงเรียนหลัก คือ โรงเรียนโกมลวิทยาคาร พร้อมโรงเรียนภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย โรงเรียนชุมชนบ้านถ่อน, โรงเรียนบ้านโพนพระ และโรงเรียนบ้านกรวดโคกสว่าง เป็นกลุ่มเครือข่ายให้การต้อนรับผู้มาเยือน หรือที่เรียกว่า “เหย้า” นั้นเอง ซึ่งได้จัดการศึกษานอกสถานที่ ด้วยหวังให้เป็นแบบอย่างในการนำเสนอจังหวัดของตนเอง โดยการนำเยี่ยมชมวัดสำคัญ พิพิธภัณฑสถาน แหล่งโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ฟังพระธรรมเทศนา ชมนิทรรศการและวิถีชีวิตผู้คน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น