วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ผู้ว่าหนองคาย พร้อมคณะ ลงพื้นที่สำรวจ “หนองหัวเรือ” ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ ที่มีสภาพตื้นเขิน เพื่อรวบรวมข้อมูลแก้ปัญหาน้ำแล้ง หลังผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านถวายฎีกาขอความช่วยเหลือ

       นายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักชลประทาน จังหวัดหนองคาย นายอนุรัฐ ไทยตรง นายอำเภอท่าบ่อ นายสาคร ธิวะโต รองนายก อบต.ท่าบ่อ ส่วนราชการอำเภอท่าบ่อ เจ้าหน้าที่ อบต.ท่าบ่อ ลงพื้นที่สำรวจแหล่งน้ำ หนองหัวเรือบริเวณวัดนาโพธิ์ บ้านนาโพธิ์ หมู่ที่ 1 ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าบ่อ และตำบลน้ำโมง กว่า 1,000 ไร่ แต่มีสภาพตื้นเขินไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ หลังจากที่ นายลำดวล ทูลธรรม ผู้ใหญ่บ้านนาโพธิ์ หมู่ที่ 1 พร้อมชาวบ้าน ได้ยื่นเรื่องถวายฎีกาไปยังสำนักราชเลขา เพื่อของบในโครงการพระราชดำริ มาทำการขุดลอกแหล่งน้ำดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งให้กับชาวบ้านและเกษตรกร เพื่อรักษาที่สาธารณะประโยชน์ไม่ให้ราษฎรบุคลุก
     นายลำดวล ทูลธรรม ผู้ใหญ่บ้านนาโพธิ์ หมู่ที่ 1 กล่าวว่า หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านทำอาชีพการเกษตร เช่น ปลูกข้าว พืชผักและเลี้ยงสัตว์ โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 1,500 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับหนองหัวเรือ และเมื่อปี 2555 จังหวัดหนองคายได้มาทำการขุดลอกหนองหัวเรือบางส่วน แต่พื้นที่ที่ขุดไม่อยู่ในบริเวณที่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ ไม่สามารถซับน้ำได้เพียงพอตามความต้องการ พื้นที่ทำการเกษตรจึงไม่มีน้ำปลูกพืชเป็นอาชีพ จากที่เคยมีน้ำใช้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เหลือเพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ต้องขอใช้น้ำจากกรมชลประทานบางส่วนที่มีคลองส่งน้ำผ่านมาในพื้นที่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอและทำให้ประสบปัญหา ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่าบ่อก็ไม่มีงบประมาณในการขุดลอก เพื่อกักเก็บน้ำให้ชาวบ้านและเกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ จึงได้ยื่นเรื่องถวายฎีกาไปยังสำนักราชเลขา และหากได้รับพระราชทานโครงการ เนื้อที่ 80 ไร่ ชาวบ้านในตำบลท่าบ่อ 5 หมู่บ้าน 712 ครัวเรือน กว่า 2,700 คน และชาวบ้านในตำบลน้ำโมง 4 หมู่บ้าน 360 ครัวเรือน กว่า 1,500 คน ก็จะได้ประโยชน์มีน้ำในการทำการเกษตร และปลูกพืชเป็นอาชีพเสริมได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
     นายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า เบื้องต้นได้ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่ในการขุดลอกให้ชัดเจนว่ามีพื้นที่เท่าไหล่กี่ไร่ ที่จะทำการขุดลอกจริง พร้อมทั้งหาแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และทำรายงานต่อสำนักราชเลขา เพื่อกราบบังคมทูลถวายฏีกาไปยังสำนักราชวัง หากโครงการขุดลอกแล้วเสร็จ ชาวบ้านและเกษตรกรก็จะสามารถทำนา และปลูกพืชผักเป็นอาชีพเสริมได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น