วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หนองคาย - ผู้ว่าหนองคาย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจความเสียหายหลังพายุถล่มหลายหมู่บ้านในพื้นที่อำเภอท่าบ่อและอำเภอโพธิ์ตาก เสียหายกว่า 400 หลังคาเรือน เร่งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปล่อยไฟฟ้าแรงต่ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบภัยพิบัติจากพายุ

     วันนี้ (18 ก.พ. 58) นายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมพันเอกวรากร ทูคำมี รอง ผอ.รมน. จังหวัดหนองคาย เจ้าหน้าที่ ปภ.จังหวัดหนองคาย เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายพัฒนธรณ์ กีรติรัฐวัฒน์ นายอำเภอท่าบ่อ นายประพาส นครภักดี นายกเทศมนตรีเมืองท่าบ่อ ลงพื้นที่ชุมชนป่างิ้ว เขตเทศบาลเมืองท่าบ่อ เพื่อตรวจดูความเสียหาย หลังจากเกิดพายุฝนลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกลงมาอย่างหนักเมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันนี้ ทำให้เสาไฟฟ้าแรงสูง ริมถนนสายท่าบ่อ – ศรีเชียงใหม่ หักโค่นลงมาขวางถนนและทับบ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายไปหลายหลังคาเรือน ซึ่งเทศบาลเมืองท่าบ่อได้มอบถุงยังชีพให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสพภัยเบื้องต้น จำนวน 50 ชุด
     จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้ลงพื้นที่ตรวจความเสียหายของ หมู่ 6 บ้านสามขา ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ  ซึ่งได้รับความเสียหายจากพายุถล่มเช่นกัน โดยเทศบาลตำบลกองนาง ได้มอบผ้าห่มแก่ผู้ประสพภัยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น จำนวน 45 ผืน นายชัยบัญชา ศรีมงคล นายกเทศมนตรีตำบลกองนาง กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้เกิดพายุฝนกระหน่ำลงมาอย่างแรง ประมาณ 10 นาที พัดบ้านเรือนราษฎรใน ต.กองนาง ได้รับความเสียหายหลายหมู่บ้าน รวมแล้วมีบ้านพังกว่า 80 หลังคาเรือน ซึ่งบ้านบางหลังถูกลมพัดหอบเอาหลังคาและฝาบ้านหลุดไปทั้งแผง ปลิวไปตกใส่บ้านหลังอื่นพังไปด้วย
     นายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า เบื้องต้นได้ประสานงานไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เร่งดำเนินการแก้ไขเสาไฟฟ้าที่หักทับบ้านเรือนประชาชนออกโดยเร็ว และให้ปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงต่ำเพื่อให้สามารถใช้ไฟฟ้าได้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนการซ่อมไฟฟ้าแรงสูงคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ถึงจะซ่อมเสร็จ และยังสั่งการให้ทาง ปภ.จังหวัด ประสานงานร่วมกับทหาร เข้าช่วยรื้อถอนบ้านที่เสียหาย และเร่งซ่อมแซมให้กับบ้านที่เสียหายทั้งหลัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนไปในเบื้องต้นก่อน
     จากการสำรวจได้สรุปความเสียหายในพื้นที่อำเภอท่าบ่อ มีความเสียหาย 4 ตำบล คือ ตำบลท่าบ่อ, น้ำโมง, กองนาง, นาข่า รวม 8 หมู่บ้าน ได้รับความเสียหาย 232 หลังคาเรือน ( รุนแรง 38 ปานกลาง 108 เล็กน้อย 86) และในพื้นที่อำเภอโพธิ์ตาก มีความเสียหาย 2 ตำบล คือ ตำบลโพธิ์ตาก และโพนทอง รวม 9 หมู่ 260 หลังคาเรือน (รุนแรง 3 ปานกลาง 10 เล็กน้อย 247) รวมความเสียหาย 2 อำเภอ 6 ตำบล 17 หมู่บ้าน 492 ครัวเรือน แยกเป็นรุนแรง 41 ปานกลาง 118 เล็กน้อย 333 หลังคาเรือน

     ความรุนแรงของพายุครั้งนี้ ยังทำให้เจดีย์นกยูง อายุกว่า 400 ปี ที่ตั้งประดิษฐานอยู่หน้าวิหารหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ วัดศรีชมภูองค์ตื้อ หักโค่นลงเสียหายยับเยิน และยังส่งผลกระทบไปยังพืชทางการเกษตรได้รับความเสียหายจำนวนมากเช่นกัน.  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น