วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หนองคาย - เกษตรกร ในพื้นที่อำเภอท่าบ่อ เริ่มหว่านไถ ปักดำ โอดประสบปัญหาค่าจ้างปักดำแพง วันละกว่า 300 บาท ต้องหันลงทุนซื้อเครื่องจักรปักดำเพื่อลดต้นทุน แนะอยากให้รัฐบาลยกเลิกโครงการจำนำข้าว เป็นประกันราคาข้าวแทน เพราะสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกร รับตั้งแต่นำข้าวเข้าร่วมโครงการ 7 เดือน ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าวเท่าทุกวันนี้

     วันนี้ ( 8 พ.ค. 57 ) เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในหลายๆ พื้นที่ ของอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เริ่มลงมือหว่านไถ ปักดำ หลังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นาข้าวได้ผลผลิตตามฤดูกาล แต่ในขณะเดียวกันในช่วงนี้มีการแข่งขันจ้างแรงงานปักดำนา ทำให้ค่าจ้างแรงงานแพงตั้งแต่ต้นฤดู ตกวันละประมาณ 300-350 บาท และหาแรงงานยาก ทำให้ชาวนาปรับรูปแบบการทำนาโดยการลงทุนซื้อเครื่องจักรปักดำ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการจ้างแรงงานปักดำ
     นายชาญชัย เหลาพรหม อายุ 49 ปี เกษตรกรบ้านป่าสักใต้ หมู่ 4 ตำบลกองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า ปีนี้ตนต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรปักดำ ในราคา 180,000 บาท ผ่อนส่งปีละ 50,000 บาท  เพื่อลดต้นทุนไม่ต้องเสียค่าจ้างแรงงานแพง ตกอยู่ 300 บาท/วัน/คน ตนมีผืนนาอยู่ 10 ไร่ โดยต้องใช้คนดำนาถึง 40 คน/วัน รวมค่าแรงแล้วตก 12,000 บาท/วัน ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูงมาก และหาแรงงานยากมาก แรงงานบางคนโก่งราคาถึง 350 บาท เทียบกับเครื่องปักดำแล้วประหยัดค่าแรงถึง 3 เท่าตัว ตกวันละ 200 บาท เป็นค่าน้ำมัน ทั้งประหยัดเวลา ไม่ต้องปักดำ และลดต้นทุนไม่ต้องเสียค่าจ้างแรงงานแพง และได้ผลผลิตใกล้เคียงกับนาแบบเดิมๆ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ซึ่งการทำนาปีต้องแบกภาระต้นทุนสูง เนื่องจากทั้งค่าใช้จ่ายน้ำมันแพง และค่าจ้างแรงงาน ค่าปุ๋ย ค่าแรงงาน แถมประสบปัญหาภัยธรรมชาติเสี่ยงกับน้ำท่วมเนื่องจากอยู่ในพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ทำให้ผลผลิตการเกษตรนาข้าว ไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร บางรายประสบปัญหาขาดทุนหนัก
     นายชาญชัย เหลาพรหม ยังเปิดเผยอีกว่า ตนได้เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีได้ 7 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน ทำให้ต้องแบกรับภาระหนี้สินและเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เพราะรอเงินรับจำนำข้าวจาก ธ.ก.ส. มาใช้หนี้และใช้จ่ายในครอบครัว โชคดีที่ยังได้เงินจากการขายข้าวนาปรังได้ หักค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือเงินอยู่ประมาณ 40,000 บาท ซึ่งก็พอทำให้มีเงินลงทุนทำข้าวนาปีในฤดูกาลนี้ได้ จึงอยากจะให้รัฐบาลได้พิจารณายกเลิกโครงการรับจำนำข้าว มาเป็นโครงการประกันราคาข้าวอย่างเดิม เพราะจะทำให้เกษตรกรมีความเชื่อมั่นในการลงทุน เป็นการประกันว่าชาวนาจะขายข้าวได้ทุกปี ถึงแม่ราคาจะตำกว่าในปัจจุบัน แต่ก็ยังดีที่ยังไม่ได้เงิน ซึ่งเกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากกว่า และราคาข้าวจะเป็นไปตามกลไกตลาดไม่มีการบิดเบือน และปัญหาทุจริตคอรัปชันจากเจ้าหน้าที่รัฐก็มีน้อยมาก และเงินสู่มือชาวนาโดยตรง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น