วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เทศบาลเมืองท่าบ่อ จัดการแข่งขันเซปักตะกร้อชิงถ้วยพระราชทานฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “เทศบาลเมืองท่าบ่อคัพ” ต้านยาเสพติด ครั้งที่ 5

     เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (28 ก.พ. 57) ที่ ลานกีฬาท่าเสด็จ เทศบาลเมืองท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย นายอโณทัย ธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันเซปักตะกร้อชิงถ้วยพระราชทานฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “เทศบาลเมืองท่าบ่อคัพ” ต้านยาเสพติด ครั้งที่ 5 ประจำปี 2557 โดยมี นายประพาส นครภักดี เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เยาวชน ประชาชน ได้เล่นกีฬาและออกกำลังกายเสริมสร้างสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติด ตลอดจนเป็นการพัฒนาทักษะในการเล่นกีฬาเซปักตะกร้อให้มีมาตรฐานการเล่นให้สูงขึ้น
     สำหรับการแข่งขันได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทประชาชนชายทั่วไป ชิงถ้วยพระราชทานฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีทีมเข้าร่วมแข่งขัน 8 ทีม ชนะเลิศจะได้รับถ้วยพระราชทานฯ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท รองชนะเลิศจะได้ 20,000 บาท 10,000 บาท และ 7,000 บาท ตามลำดับ และการแข่งขันประเภทประชาชนชายทั่วไปชุมชน มีทีมเข้าร่วมการแข่งขัน 16 ทีม ชนะเลิศจะได้รับถ้วยพร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท รองชนะเลิศจะได้ 7,000 บาท 5,000 บาท และ 3,000 บาท ตามลำดับ ซึ่งวันนี้เป็นการแข่งขันคู่เปิดสนามประเภทประชาชนชายทั่วไปชุมชน ระหว่างทีมชุมชนป่างิ้ว พบกับทีมชุมชนป่าตาล โดยการแข่งขันจะมีไปจนถึงวันที่ 6 มีนาคม 2557.

วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการเพื่อความมั่นคง กรมกิจการชายแดนทหาร นำคณะเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าศึกษาดูงานกิจกรรม “โครงการหมู่บ้านเข้มแข็งคู่ขนานตามแนวชายแดน และสร้างความสำพันธ์อันดีซึ่งกันและกัน”


     เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ก.พ. 57 พลตรี คำรณ เครือวิชฌยาจารย์ ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการเพื่อความมั่นคง กรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย นำคณะเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นำโดย พันโท สมพอน มิดตะพอน หัวหน้าห้องการกรมใหญ่ เสนาธิการกองทัพประชาชนลาว เข้าศึกษาดูงานกิจกรรม “โครงการหมู่บ้านเข้มแข็งคู่ขนานตามแนวชายแดน และสร้างความสำพันธ์อันดีซึ่งกันและกัน” ณ ศูนย์การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง สมาชิกอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

     ทั้งนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดน โดยการอาศัยการมีส่วนร่วมของราษฎร ซึ่งมีอยู่ตลอดตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ ดำเนินโครงการฯ เพื่อให้ราษฎรทั้งสองประเทศได้มีการพัฒนาความสัมพันธ์และทำกิจกรรมร่วมกัน มุ่งขจัดเงื่อนไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ ตลอดจนเสริมสร้างกระบวนการชุมชนเข้มแข็งตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ
     สำหรับการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านเข้มแข็งคู่ขนานตามแนวชายแดน ในปีงบประมาณ 2556 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการในพื้นที่ จ.เลย โดยมีราษฎรไทยและราษฎรจาก สปป.ลาว เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 100 คน โดยมีกิจกรรมอบรมให้ความรู้ทางด้านการเกษตร, การทำสวนยางพารา, การขยายพันธุ์พืช, การทำปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพ, การทัศนศึกษาดูงานสวนเกษตรตัวอย่างและหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และการทัศนศึกษาวัฒนธรรมประเพณี เช่น จัดแข่งขันกีฬาท้องถิ่น การจัดแข่งขันเรือยาวประเพณี การร่วมงานกฐิน ผ้าป่า เป็นต้น

โรงเรียนท่าบ่อพิทยาคม ได้จัดกิจกรรมชุมนุมรอบกองไฟ เข้าค่ายลูกเสือ - เนตรนารี สามัญรุ่นใหญ่ ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ประจำปีการศึกษา 2557

      เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 27 ก.พ. 57 ที่สนามกีฬาโรงเรียนท่าบ่อพิทยาคม ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ได้จัดกิจกรรมชุมนุมรอบกองไฟ เข้าค่ายลูกเสือ - เนตรนารี สามัญรุ่นใหญ่ ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ประจำปีการศึกษา 2557 โดยมี นายยุทธนา พิลาคง ประธานคณะกรรมการสถานศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งภาคกลางวันยังมีกิจกรรมเดินทางไกล บำเพ็ญประโยชน์ การผจญภัยตามฐานต่างๆ และเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมรอบกองไฟ เพื่อเป็นการทดสอบการอยู่ร่วมกันเป็นระบบหมู่ลูกเสือ เพื่อพัฒนาในด้านร่างกาย  จิตใจ และศีลธรรม โดยมี ลูกเสือ – เนตรนารี สามัญรุ่นใหญ่ 3 กอง จำนวน 160 นาย และผู้บังคับบัญชากองลูกเสือ จำนวน 24 นาย ให้การต้อนรับ
     สำหรับการชุมนุมรอบกองไฟ เป็นกิจกรรมพิเศษอย่างหนึ่งของลูกเสือ ซึ่ง ลอร์ดเบเดน โพเอลล์ ได้เป็นผู้ริเริ่มนำมาใช้ในการนำเด็ก ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นลูกเสือรุ่นแรกของโลก ไปอยู่ค่ายพักแรมที่เกาะบราวน์ซี  ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2450 กล่าวได้ว่าเป็นบทเรียนหรือวิธีการฝึกอบรมลูกเสืออย่างหนึ่ง เพื่อเป็นการฝึกอบรมในตอนกลางคืน เพื่อให้ลูกเสือได้ร้องเพลงร่วมกัน หรือแสดงกิริยาอาการอย่างเดียวกัน เป็นการปลุกใจหรือเปลี่ยนอารมณ์ให้เกิดความสนุกสนานเบิกบานใจ เพื่อให้ลูกเสือแต่ละหมู่ได้มีโอกาสออกมาแสดงรอบกองไฟ เป็นการส่งเสริมความสามัคคีของหมู่กับลูกเสือแต่ละคนในหมู่ รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น และกล้าแสดงออกในที่ประชุมกองไฟ.

คณะทำงานขับเคลื่อนปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดอำเภอท่าบ่อ จ.หนองคาย จัดประชุมประชาคม Re-x-Ray และจัดระเบียบสังคม ในพื้นที่ บ้านกองนาง ต.กองนาง

     เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 27 ก.พ. 57 ที่ศาลาการเปรียญวัดสุคนธราราม ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เจ้าหน้าที่คณะทำงานขับเคลื่อนปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดอำเภอท่าบ่อ นำโดย นายขจรศักดิ์ พรมเทศ เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ, พ.ต.ท. นพดล ผลพัฒนา สวป.สภ.ท่าบ่อ ได้จัดประชุมประชาคม Re-x-Ray และจัดระเบียบสังคม ในพื้นที่ บ้านกองนาง หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 10 เพื่อค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาระบบสมัคร เพื่อรณรงค์กระตุ้นจิตสำนึกแก่พลังสังคมอย่างต่อเนื่อง
     ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดให้มี “Re-X-Ray ค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เพื่อนำเข้ากระบวนการบำบัดรักษาระบบสมัครใจ”  โดยขอให้ทุกจังหวัด/อำเภอ จัดให้มีการประชุมประชาคมค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน พร้อมกันทั่วประเทศ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่อจูงใจให้ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในระบบสมัครใจ โดยมีการให้ความรู้ในเรื่องโทษของยาเสพติดชนิดต่างๆ ซึ่งมีชาวบ้านสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก.

อำเภอท่าบ่อ เดินทางศึกษาการทำปุ๋ยชีวภาพและเชื่อมความสัมพันธ์ กับเมืองหาดทรายฟอง สปป.ลาว

      วันที่ 25 ก.พ. 57 นายยุคล กาญจนสิริพงศ์ ปลัดอาวุโสอำเภอท่าบ่อ จ.หนองคาย นำเกษตรกร ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน เดินทางเข้าศึกษาดูงานการทำปุ๋ยชีวภาพ ของท้าวพอนไชย พมบันชา เกษตรกรบ้านหาดทรายฟองเหนือ เมืองหาดทรายฟอง แขวงนครหลวงเวียงจันทร์ สปป.ลาว เพื่อนำความรู้มาปรับใช้ในการเกษตรกรรม ด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเมือง ท่าบ่อกับหาดทรายฟอง ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และเสริมสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดนให้ใกล้ชิดแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
     โดยท้าวพอนไชย ได้ทำการเกษตรด้านปุ๋ยชีวภาพให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด ในพื้นที่ 5 ไร่เศษ เพื่อช่วยให้ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของรัฐบาล สปป.ลาว โดยการนำมูลค้างคาว 1 ส่วน, แกลบดิน 3 ส่วน, รำละเอียด 1 ส่วน, หัวเชื้ออีเอ็ม 5 ปริมาณ 30 กรัม, กากน้ำตาล 30 ลิตร และน้ำสะอาด 10  ลิตร เป็นส่วนประกอบทำปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ นำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากันตามขั้นตอน และเมื่อได้ความชื้นตามต้องการแล้ว นำไปกองกับพื้นปูนหรือบนพลาสติกให้มีความสูงไม่เกิน 15 ซม.  แล้วใช้กระสอบป่านคลุมให้มิดชิดหมักไว้ 3 วัน สามารถนำไปใช้ได้กับพืชผัก ซึ่งสามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้ให้กับ ท้าวพอนไชย ตกเดือนละ 4 ล้านกีบ หรือ กว่า 1 หมื่นบาท.

วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอท่าบ่อ จัดทำโครงการส่งเสริมประชาธิปไตยและป้องกันยาเสพติด

     เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (26 ก.พ. 57) ที่ศาลาการเปรียญ วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้จัดทำโครงการส่งเสริมประชาธิปไตยและป้องกันยาเสพติด ประจำปี 2557 โดยมี นายอนุรัฐ ไทยตรง นายอำเภอท่าบ่อ เป็นประธานพิธีเปิด ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีทักษะชีวิตด้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยและป้องกันยาเสพติด และสามารถเรียนรู้โดยบูรณาการองค์ความรู้ และกระบวนการเรียนรู้ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
      นางจามรี ภูเมฆ ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอท่าบ่อ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งยึดหลักของความเสมอภาค เสรีภาพ และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันและอำนาจอธิปไตยต้องมาจากประชาชน และมีการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อร่วมกันขจัดปัญหายาเสพติดให้เบาบางลงหรือให้หมดสิ้นไป ซึ่ง กศน. อำเภอท่าบ่อ ได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและป้องกันยาเสพติด  จึงได้จัดอบรมนักศึกษาขึ้น เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยและป้องกันยาเสพติด ให้นักศึกษาและประชาชน อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข 
     โดยมีนักศึกษาจาก กศน. ตำบลท่าบ่อ, ตำบลกองนาง, ตำบลน้ำโมง, ตำบลโพนสา และตำบลบ้านถ่อน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เข้าร่วม จำนวน 100 คน.

นายอำเภอท่าบ่อ เป็นประธานประชุมวางแผนเพื่อจัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานีศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( 1 ไร่ แก้จน) ของโรงเรียนหนองนางพิทยาคม

     เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (26 ก.พ. 57)  ที่ห้องประชุมโรงเรียนหนองนางพิทยาคม ต.หนองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย นายอนุรัฐ ไทยตรง นายอำเภอท่าบ่อ ได้เป็นประธานประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ ผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน ครู อาจารย์ของโรงเรียนหนองนางพิทยาคม เพื่อวางแผนจัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานีศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( 1 ไร่ แก้จน) ภายในบริเวณโรงเรียนหนองนางพิทยาคม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นสถานที่ทำการศึกษา ค้นคว้า แสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน และเป็นสถานที่ให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ตามแนวพระราชดำริของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสถานศึกษาในการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของประชาชน ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นสู่ชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน
     ซึ่งในที่ประชุม ได้มีการเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติและจัดหาสถานที่จัดทำโครงการ พร้อมทั้งวางแผนเพื่อจัดทำกิจกรรมของโครงการ ซึ่งได้วางแผนดำเนินงานจัดทำสถานีศูนย์เรียนรู้ต่างๆ 10 สถานี ประกอบด้วย สถานีผักสวนครัว, สถานีเรือนเพาะเห็ด, สถานีสวนปาล์ม, สถานีสวนสมุนไพร, สถานีการปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์, สถานีการเลี้ยงไก่, สถานีการเลี้ยงสุกร, สถานีการเลี้ยงปลา กบ ปลาไหล, สถานีปุ๋ยหมักชีวภาพ และสถานีคนเอาถ่าน ซึ่งจะมีการติดตามการดำเนินงาน ประเมินผลและรายงานผลโครงการฯ โดยเน้นความสำคัญให้เด็กนักเรียนเป็นตัวขับเคลื่อนหลักภายในศูนย์การเรียนรู้ ตลอดจนผู้ปกครองเข้าร่วมสนับสนุนและส่งเสริมในรูปแบบของการทำงานร่วมกัน. 

วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 อุดรธานี ร่วมกับอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย จัดรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า

     เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 ก.พ. 57  ที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 อุดรธานี ร่วมกับอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย จัดกิจกรรม “วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า” โดยมี นายอโณทัย ธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในพิธีเปิด
     นายสว่าง เฟื่องกระแสร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 อุดรธานี กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2543 กำหนดให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า เพื่อเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกของประชาชนในการป้องกันไฟป่า เนื่องจากในฤดูแล้งของทุกๆ ปี มักจะเกิดไฟป่าขึ้นเป็นประจำ ซึ่งไฟป่าที่เกิดมีความเสียหายต่อชีวิต ทรัพยากรป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ทั้งทางตรงและทางอ้อม
     สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 อุดรธานี ที่รับผิดชอบพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย หนองคาย , บึงกาฬ , อุดรฯ , สกลนคร , หนองบัวลำภู และนครพนม จึงได้จัดให้มีการรณรงค์ฯในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเกษตรกรในจังหวัดหนองคาย และจังหวัดใกล้เคียงระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่จะก่อให้เกิดไฟป่า
     โดยได้จัดกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย การประกวดคำขวัญ , การแข่งขันประกวดวาดภาพ , การเดินรณรงค์ป้องกันไฟป่า , การจัดแสดงนิทรรศการ , การประชาสัมพันธ์ป้องกันไฟป่าเคลื่อนที่แบบเคาะประตูบ้าน , การแข่งขันตอบปัญหาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และไฟป่า และกิจกรรมสาธิตการแสดงการบริหารประกอบเครื่องมือดับไฟป่า มี นักเรียน-นักศึกษา หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มพลังมวลชน และประชาชนทั่วไป รวมทั้งสิ้นกว่า 1,500 คน